Back
Iritis: A Cause of Blurry Vision That Can Lead to Vision Loss

ม่านตาอักเสบเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองเห็นไม่ชัด จนอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการม่านตาอักเสบมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรง บทความนี้จะมาแนะนำการสังเกตม่านตาอักเสบได้อย่างไร พร้อมหาสาเหตุ แนวทางการรักษา และวิธีการป้องกันโรคม่านตาอักเสบ

  • ม่านตาอักเสบเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน หรือผนังชั้นกลางของลูกตา ทำให้การทำงานของเนื้อเยื่อในตาลดลง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบได้เข้าไปทำลายส่วนดังกล่าว

  • อาการม่านตาอักเสบสังเกตได้จากการอักเสบของดวงตา มีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล ปวดตา ตามัว ตาสู้แสงไม่ได้ รูม่านตามีลักษณะรูปร่างผิดปกติ มีหนอง มองเห็นไม่ชัดเจน มองเห็นมีจุดดำๆ หรือเงาลอยไปมา

  • วิธีรักษาม่านตาอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของการอักเสบ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ หากสาเหตุมาจากอาการอื่นๆ อาจมีการใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ ยากิน หรือให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ การให้ยาปฏิชีวนะกรณีมีการติดเชื้อ และการให้ยากดภูมิคุ้มกัน

  • ป้องกันม่านตาอักเสบได้โดยการระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของดวงตา สังเกตอาการผิดปกติของดวงตา และพบจักษุแพทย์เป็นประจำหากป่วยด้วยโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดม่านตาอักเสบ รวมทั้งทานยาอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่ง

  • ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ให้บริการดูแลและรักษาโรคด้านดวงตาอย่างครอบคลุม มีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ สามารถให้คำปรึกษาและแนะแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

 

ม่านตาอักเสบ คืออะไร

 

ม่านตาอักเสบ คืออะไร

ม่านตา (Iris) คือ ส่วนที่อยู่โดยรอบรูม่านตา (Pupil) มีลักษณะเป็นวงแหวน มีสีที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรม ม่านตามีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในดวงตา

ม่านตาอักเสบเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน หรือผนังชั้นกลางของลูกตา ทำให้เนื้อเยื่อในลูกตาทำงานลดลง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบได้เข้าไปทำลายในบริเวณดังกล่าว และบริเวณดวงตาไม่ได้มีพื้นที่มาก เมื่อเกิดการระคายเคืองอักเสบ จึงทำให้รูปตาเปลี่ยน ส่งผลให้การมองเห็นลดลง ในกรณีที่เป็นมากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

ม่านตาอักเสบ เกิดที่บริเวณไหนได้บ้าง

ม่านตาอักเสบเกิดได้ 4 บริเวณ ดังนี้

  • ม่านตาอักเสบส่วนหน้า(Anterior Uveitis) เป็นการอักเสบที่ด้านหน้าของลูกตา (ระหว่างกระจกตาและม่านตา) และเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (Ciliary) ซึ่งเป็นประเภทม่านตาอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด ทำให้มีอาการตาแดง และเจ็บปวดบริเวณดวงตาได้

  • ม่านตาอักเสบส่วนหลัง(Posterior Uveitis) คือการอักเสบของม่านตามบริเวณชั้นจอตาหรือคอรอยด์ เป็นชนิดที่ทำให้การมองเห็นลดลงได้อย่างมากหรืออาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวร

  • ม่านตาอักเสบส่วนกลาง(Intermediate Uveitis) เป็นการอักเสบบริเวณวุ้นตา และอาจมีเส้นเลือดจอตาอักเสบร่วมได้ มักไม่มีอาการปวด หรือแดง แต่จะมีอาการตามัว หรือมองเห็นจุดดำลอยไปมา บางรายทำให้เกิดม่านตาอักเสบส่วนหน้าด้วย

  • ม่านตาอักเสบตลอดทั้งส่วนของลูกตา(Panuveitis) คือการอักเสบตั้งแต่ส่วนหน้าถึงส่วนหลังของลูกตา

 

ประเภทของอาการม่านตาอักเสบ

 

ประเภทของอาการม่านตาอักเสบ

อาการม่านตาอักเสบแบ่งได้ด้วยกัน 2 ประเภท ตามความรุนแรงและอาการของโรค ดังนี้

ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน

ผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตาแดง แพ้แสง ตามัวและการมองเห็นผิดปกติ มองเห็นเห็นเป็นจุดหรือก้อนเมฆเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลันยังพบในผู้ป่วยโรค SLE ที่มีภาวะจอประสาทตาอักเสบจึงทำให้ตาขาดเลือด

ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง

ผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน เพราะอาการม่านตาอักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแทรกซ้อนจากม่านตาอักเสบเกิดขึ้นแล้ว เช่นตามัวลงจากต้อหินต้อกระจกเป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรังอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้ ม่านตาอักเสบเรื้อรังผู้ป่วยอาจจะมีอาการตาอักเสบเป็นๆ หายๆ

สังเกตอาการม่านตาอักเสบ มีอะไรบ้าง

ม่านตาอักเสบสามารถดูแลรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ดังนั้นการสังเกตอาการม่านตาอักเสบจึงมีความสำคัญ ช่วยให้สามารถสังเกตอาการของโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคม่านตาอักเสบเรื้อรัง ที่มาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยมีข้อสังเกตอาการม่านตาอักเสบ ดังนี้

  • ตาแดงเรื่อบริเวณตาขาวใกล้กับตาดำ

  • เยื่อบุตาบวม

  • ปวดตา

  • ตาไวต่อแสง มีอาการปวดตามากขึ้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้า

  • เคืองตา น้ำตาไหล

  • ตามัว มองไม่ชัด

  • รูม่านตาเปลี่ยนรูปจากวงกลม เป็นรูปทรงที่ไม่ปกติ

  • พบหนอง (Hypopyon) บริเวณลูกตาหน้า หรือรอบๆ ม่านตา

  • มองเห็นจุด หรือเงาดำลอยไปมา

  • สูญเสียลานสายตา (Visual Field Defects)

  • การมองเห็นลดลง

 

ประเภทของอาการม่านตาอักเสบ

 

หาสาเหตุม่านตาอักเสบ เกิดจากอะไร

ม่านตาอักเสบมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การติดเชื้อ

การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราบริเวณลูกตาส่งผลให้เกิดม่านตาอักเสบได้ เช่น การมีแผลที่กระจกตากระจกตาอักเสบและเยื่อตาขาวอักเสบ

โรคอื่นๆ

การป่วยเป็นโรคต่างๆ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคม่านตาอักเสบ เช่น ไซนัสอักเสบ วัณโรค โรคเรื้อน ซิฟิลิส เอดส์ สมองอักเสบ โรคปลอกประสาทเสื้อผมแข็ง ปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น

อาการบาดเจ็บทางตา

อาการบาดเจ็บทางตา เช่น การกระทบกระเทือน การถูกระแทกบริเวณกระบอกตา พบได้ 1 ใน 5 ของเคสที่มีอาการม่านตาอักเสบ หรือเรียกว่าโรคม่านตาอักเสบหลังได้รับบาดเจ็บ (Traumatic Iritis) ซึ่งจะมีอาการตามัว ปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้

ผลข้างเคียงจากยา

การได้รับยาบางชนิดอาจส่งผลกับการเกิดโรคม่านตาอักเสบได้ เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบินสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ยาปฏิชีวนะริฟาบูติน เป็นต้น เมื่อหยุดกินอาการม่าสตาอักเสบก็จะหายไป

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากม่านตาอักเสบ

เมื่อป่วยด้วยโรคม่านตาอักเสบที่มีความรุนแรงมากขึ้นและเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนี้

  • โรคต้อหิน (Glaucoma)

  • โรคต้อกระจก (Cataracts)

  • จอประสาทตาถลอก

  • จอประสาทตาเป็นแผล

  • จอประสาทตาบวม

  • ภาวะม่านตายึดติดกับเลนต์ตาด้านหลัง (Eye Synechiae) ส่งผลให้รูม่านตามีลักษณะรูปร่างที่ผิดปกติ

  • เส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย

  • สูญเสียการมองเห็นถาวร

 

วินิจฉัยม่านตาอักเสบได้อย่างไร

 

วินิจฉัยม่านตาอักเสบได้อย่างไร

การวินิจฉัยม่านตาอักเสบ แพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด พร้อมซักประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ และอาจมีการส่ง Lab เพื่อตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือภาวะภูมิแพ้ตัวเองหรือเปล่า ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจตา ดังนี้

  • การวัดความดันลูกตา(IntraOcular Pressure)

  • การตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Slit-lamp microscope) วิธีนี้เป็นวิธีตรวจม่านตาอักเสบขั้นต้น

  • การวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity test) เป็นการวัดเพื่อประเมินว่าคนไข้มีความสามารถในการมองเห็นผ่านการอ่านชาร์ตตัวอักษร

  • การตรวจวินิจฉัยจอประสาทตาด้วยคลื่นแสง (Optical coherence tomography)

  • การถ่ายภาพจอประสาทตา (Color fundus retinal photography)

  • การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุการติดเชื้อ

  • การตรวจ X-Ray คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

 

แนวทางการรักษาม่านตาอักเสบ

 

แนวทางการรักษาม่านตาอักเสบ

วิธีรักษาม่านตาอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของม่านตาอักเสบ ม่านตาสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ การรักษาในระยะเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อลดการอักเสบให้ได้มากที่สุด ควบคุมป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับดวงตาและอาการข้างเคียงอื่นๆ ในบางเคสจะต้องรักษาจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดม่านตาอักเสบ ซึ่งการรักษาประกอบด้วย

  • การใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บตาจากการอักเสบ

  • การใช้ยาสเตียรอยด์เช่น ยาหยอดตาสเตียรอยด์ ยาแบบรับประทาน ยาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ หรือการฉีดยาเข้าวุ้นตา

  • ยาปฏิชีวนะใช้เมื่อมีการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

  • การใช้ยากดภูมิคุ้มกันใช้ในกรณีที่ม่านตาอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง และร่างกายตอบสนองต่อยาแก้อาการอักเสบได้ไม่ดีนัก หรือเริ่มส่งผลต่อการสูญเสียการมองเห็น

ป้องกันม่านตาอักเสบได้อย่างไร

ม่านตาอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคม่านตาอักเสบ เพราะรู้เร็วจะช่วยให้รักษาได้ง่าย และป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อลูกตา โดยการป้องกันและการลดความเสี่ยงม่านตาอักเสบทำได้ดังนี้

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของดวงตา

  • หากมีโรคภูมิแพ้ตัวเอง ควรทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

  • เข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

  • หากป่วยเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคม่านตาอักเสบ ควรพบจักษุแพทย์เป็นประจำ

  • เมื่อมีการติดเชื้อควรรีบรักษาเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ

รักษาม่านตาอักเสบ ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร

หากมีอาการม่านตาอักเสบ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้

  • โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

  • เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย

  • พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

  • ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง

สรุป

ม่านตาอักเสบ(Iritis /Uveitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อหรือผนังชั้นกลางของลูกตา ส่งผลให้ดวงตาอักเสบแดง ปวดตา ตามัว เคืองตา มีน้ำตาไหล หากอาการของโรครุนแรงมาก อาจส่งผลต่อการมองเห็นจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ สาเหตุโรคม่านตาอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของดวงตา การติดเชื้อ หรือโรคอื่นๆ การป้องกันและลดความเสี่ยงสามารถทำได้โดยการตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยบางโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดม่านตาอักเสบ ควรทานยาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospitalให้บริการดูแลรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาทั้งหมด มีแพทย์ที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละเคส เพื่อผลลัพธ์หลังการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

calling
ဆက်သွယ်ရန် : +66965426179