|
มาทำความรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ รวมถึงวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเพื่อดูแลสุขภาพดวงตาให้ปลอดภัยจากการอักเสบ หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
กระจกตาอักเสบ (Keratitis) คือการอักเสบของกระจกตาที่อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ โดยภาวะกระจกตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนภาวะที่ไม่เกิดจากการติดเชื้ออาจเกิดจากการบาดเจ็บที่กระจกตา
สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ได้แก่
เชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในการเกิดกระจกตาอักเสบ มักเกิดจากการสะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรกในตา
เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคงูสวัด หรือเริม โดยภาวะกระจกตาอักเสบจากเริมมักเกิดขึ้นซ้ำได้
เชื้อรา สามารถทำให้กระจกตาอักเสบได้ในบางกรณี
เชื้อปรสิต เช่น เชื้ออะแคนทามีบา ซึ่งมักพบในผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะว่ายน้ำ
ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการข่วนกระจกตา
การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบที่กระจกตา
มีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เช่น ฝุ่น หรือเศษวัสดุที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบ
ดวงตาสัมผัสกับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายและอักเสบที่กระจกตา
ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาบิดเข้า หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (เช่น SLE กลุ่มอาการโจเกรน และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) ซึ่งมักมีอาการตาแห้งร่วมด้วย
ภาวะขาดวิตามินเอ ที่อาจทำให้กระจกตาเสียหายและเกิดอาการอักเสบ
มาดูกันว่าอาการใดบ้างที่อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นภาวะกระจกตาอักเสบ โดยอาการที่สังเกตได้และควรระวังมีดังนี้
ตาแดงและปวดตา
น้ำตาไหลและมีขี้ตา
ลืมตาไม่ขึ้นเพราะรู้สึกปวดหรือระคายเคืองตา
มองเห็นไม่ชัดหรือการมองเห็นลดลง
ตาแพ้แสง
ระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในดวงตา
ปัจจัยหลายๆ อย่างสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดกระจกตาอักเสบได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการดูแลดวงตาและสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่
การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปอาจทำให้ดวงตามีโอกาสได้รับบาดเจ็บและติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อคอนแท็กต์เลนส์ที่ผิดวิธีหรือไม่สะอาดพอก็เพิ่มความเสี่ยงได้ นอกจากนี้การใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติยังเป็นสาเหตุของกระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบาได้อีกด้วย
เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายจะป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลง สาเหตุของภูมิคุ้มกันต่ำมีหลากหลาย เช่น จากโรคภูมิแพ้หรือการใช้ยากดภูมิ ระบบป้องกันตามธรรมชาติของดวงตาจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เชื้อโรคที่เข้ามายังกระจกตาทำลายเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบได้
การใช้ยาสเตียรอยด์นานๆ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องได้ ส่งผลให้ดวงตาป้องกันเชื้อโรคได้ยากขึ้น เชื้อโรคเข้ามายังกระจกตาจะทำลายเนื้อเยื่อกระจกตาได้ง่ายขึ้น จึงอาจทำให้กระจกตาอักเสบ บวมหรือติดเชื้อในกระจกตาได้นั่นเอง
ดวงตาบาดเจ็บรวมถึงการบาดเจ็บจากการผ่าตัดทำให้กระจกตาอักเสบได้ เนื่องจากเมื่อกระจกตาถูกทำลายหรือมีบาดแผล เชื้อโรคจากภายนอกอาจเข้าสู่กระจกตาได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาอักเสบมากขึ้น
หากมีอาการปวดตาบ่อยๆ ร่วมกับอาการตาแดง ตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น หรือมองเห็นไม่ชัด อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นภาวะกระจกตาอักเสบได้ แนะนำผู้ป่วยควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที เพราะการได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง หากการรักษาล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและมีผลต่อการมองเห็นอย่างถาวรได้
มี 2 วิธีที่แม่นยำที่ช่วยให้การตรวจหาสาเหตุและการรักษาของกระจกตาอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ
การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ Slit-Lamp ใช้สีฟลูออเรสซีนแต้มบนดวงตาเพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติที่กระจกตาชัดเจนขึ้น
การตรวจในห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างน้ำตา ขี้ตา หรือเซลล์กระจกตาส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการอักเสบ
วิธีรักษาภาวะกระจกตาอักเสบทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กระจกตาอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ วิธีรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการ โดยใช้น้ำตาเทียมช่วยให้ความชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง
กระจกตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ โดยอาจหยอดวันละ 4 ครั้ง หรือบ่อยถึงทุก 30 นาทีในชั่วโมงแรกๆ และบางกรณีอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
กระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทานต้านเชื้อไวรัสมีประสิทธิภาพในการรักษากระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้การใช้น้ำตาเทียมยังช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
กระจกตาอักเสบจากเชื้อรา ใช้ยาต้านเชื้อราหยอดตา ร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กันในบางราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
กระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ใช้ยาหยอดตาต้านเชื้อปรสิต ซึ่งเชื้ออะแคนทามีบามักตอบสนองช้าและทนทานต่อยา จึงต้องใช้เวลานานในการรักษา
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบอย่างง่ายคือการดูแลและใช้งานคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้องทำได้ดังนี้
ถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนเข้านอน
ล้างมือและเช็ดมือให้แห้งก่อนสัมผัสคอนแท็กต์เลนส์
ดูแลเก็บรักษาตามคู่มือ
ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่เหมาะสำหรับประเภทของคอนแท็กต์เลนส์
เปลี่ยนคอนแท็กต์เลนส์ใหม่เมื่อหมดอายุ
เปลี่ยนตลับเก็บทุก 3-6 เดือน
ทิ้งน้ำยาแช่คอนแท็กต์เลนส์ในตลับทุกครั้งหลังทำความสะอาดเลนส์
หลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์ในตอนว่ายน้ำ
อีกวิธีในการป้องกันกระจกตาอักเสบ คือการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แม้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสในกระจกตาได้ทั้งหมด แต่การทำตามข้อแนะนำนี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา เปลือกตา หรือผิวหนังรอบดวงตาขณะเป็นโรคเริม ยกเว้นจะล้างมือทำความสะอาดอย่างหมดจด
ใช้ยาหยอดตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์เท่านั้น
ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
กระจกตาอักเสบคือภาวะที่กระจกตาเกิดการอักเสบ ทำให้ตาแดง บวม ปวดตา มองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคือง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ได้แก่ การใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก การบาดเจ็บที่ดวงตา และการติดเชื้อ
วิธีรักษากระจกตาอักเสบทำได้ด้วยยาหยอดตาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา ส่วนการป้องกันควรดูแลคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก
หากสงสัยว่าเป็นกระจกตาอักเสบ สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่พร้อมดูแลด้วยความชำนาญและเทคโนโลยีทันสมัย