มุมสุขภาพตา : #กระจกตาอักเสบ

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

เข้าใจในเรื่องกระจกตาอักเสบว่าเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน

กระจกตาอักเสบ คือภาวะที่กระจกตาเกิดการอักเสบ ทำให้ตาแดง ปวดตา มองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคือง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา การบาดเจ็บที่ดวงตา หรือใช้คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกวิธี ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ได้แก่ การใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก บาดเจ็บที่ดวงตา และติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม  รักษากระจกตาอักเสบได้ด้วยยาหยอดตาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา และป้องกันได้โดยการเก็บรักษาคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก มารักษากระจกตาอักเสบที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีจักษุแพทย์คอยดูแลและเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษา   มาทำความรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ รวมถึงวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเพื่อดูแลสุขภาพดวงตาให้ปลอดภัยจากการอักเสบ หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย     ภาวะกระจกตาอักเสบ คืออะไร? กระจกตาอักเสบ (Keratitis) คือการอักเสบของกระจกตาที่อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ โดยภาวะกระจกตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนภาวะที่ไม่เกิดจากการติดเชื้ออาจเกิดจากการบาดเจ็บที่กระจกตา     กระจกตาอักเสบ เกิดจากอะไรได้บ้าง สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ได้แก่ กระจกตาอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในการเกิดกระจกตาอักเสบ มักเกิดจากการสะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรกในตา เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคงูสวัด หรือเริม โดยภาวะกระจกตาอักเสบจากเริมมักเกิดขึ้นซ้ำได้ เชื้อรา สามารถทำให้กระจกตาอักเสบได้ในบางกรณี เชื้อปรสิต เช่น เชื้ออะแคนทามีบา ซึ่งมักพบในผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะว่ายน้ำ กระจกตาอักเสบ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการข่วนกระจกตา การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบที่กระจกตา มีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เช่น ฝุ่น หรือเศษวัสดุที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบ ดวงตาสัมผัสกับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายและอักเสบที่กระจกตา ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาบิดเข้า หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (เช่น SLE กลุ่มอาการโจเกรน และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) ซึ่งมักมีอาการตาแห้งร่วมด้วย  ภาวะขาดวิตามินเอ ที่อาจทำให้กระจกตาเสียหายและเกิดอาการอักเสบ     สังเกตอาการของกระจกตาอักเสบ  มาดูกันว่าอาการใดบ้างที่อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นภาวะกระจกตาอักเสบ โดยอาการที่สังเกตได้และควรระวังมีดังนี้ ตาแดงและปวดตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา ลืมตาไม่ขึ้นเพราะรู้สึกปวดหรือระคายเคืองตา มองเห็นไม่ชัดหรือการมองเห็นลดลง ตาแพ้แสง ระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในดวงตา     ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดกระจกตาอักเสบ  ปัจจัยหลายๆ อย่างสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดกระจกตาอักเสบได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการดูแลดวงตาและสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ คอนแท็กต์เลนส์ การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปอาจทำให้ดวงตามีโอกาสได้รับบาดเจ็บและติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อคอนแท็กต์เลนส์ที่ผิดวิธีหรือไม่สะอาดพอก็เพิ่มความเสี่ยงได้ นอกจากนี้การใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติยังเป็นสาเหตุของกระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบาได้อีกด้วย ภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายจะป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลง สาเหตุของภูมิคุ้มกันต่ำมีหลากหลาย เช่น จากโรคภูมิแพ้หรือการใช้ยากดภูมิ ระบบป้องกันตามธรรมชาติของดวงตาจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เชื้อโรคที่เข้ามายังกระจกตาทำลายเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบได้ กลุ่มยาสเตียรอยด์ การใช้ยาสเตียรอยด์นานๆ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องได้ ส่งผลให้ดวงตาป้องกันเชื้อโรคได้ยากขึ้น เชื้อโรคเข้ามายังกระจกตาจะทำลายเนื้อเยื่อกระจกตาได้ง่ายขึ้น จึงอาจทำให้กระจกตาอักเสบ บวมหรือติดเชื้อในกระจกตาได้นั่นเอง ดวงตาบาดเจ็บ ดวงตาบาดเจ็บรวมถึงการบาดเจ็บจากการผ่าตัดทำให้กระจกตาอักเสบได้ เนื่องจากเมื่อกระจกตาถูกทำลายหรือมีบาดแผล เชื้อโรคจากภายนอกอาจเข้าสู่กระจกตาได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาอักเสบมากขึ้น อาการของกระจกตาอักเสบ ที่ควรพบแพทย์ หากมีอาการปวดตาบ่อยๆ ร่วมกับอาการตาแดง ตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น หรือมองเห็นไม่ชัด อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นภาวะกระจกตาอักเสบได้ แนะนำผู้ป่วยควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที เพราะการได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง หากการรักษาล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและมีผลต่อการมองเห็นอย่างถาวรได้ วิธีการตรวจหรือวินิจฉัยกระจกตาอักเสบ  มี 2 วิธีที่แม่นยำที่ช่วยให้การตรวจหาสาเหตุและการรักษาของกระจกตาอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ Slit-Lamp ใช้สีฟลูออเรสซีนแต้มบนดวงตาเพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติที่กระจกตาชัดเจนขึ้น การตรวจในห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างน้ำตา ขี้ตา หรือเซลล์กระจกตาส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการอักเสบ วิธีรักษาภาวะกระจกตาอักเสบ  วิธีรักษาภาวะกระจกตาอักเสบทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ กระจกตาอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ วิธีรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการ โดยใช้น้ำตาเทียมช่วยให้ความชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง กระจกตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ โดยอาจหยอดวันละ 4 ครั้ง หรือบ่อยถึงทุก 30 นาทีในชั่วโมงแรกๆ และบางกรณีอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย กระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทานต้านเชื้อไวรัสมีประสิทธิภาพในการรักษากระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้การใช้น้ำตาเทียมยังช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา กระจกตาอักเสบจากเชื้อรา ใช้ยาต้านเชื้อราหยอดตา ร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กันในบางราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ กระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ใช้ยาหยอดตาต้านเชื้อปรสิต ซึ่งเชื้ออะแคนทามีบามักตอบสนองช้าและทนทานต่อยา จึงต้องใช้เวลานานในการรักษา     แนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบอย่างง่ายคือการดูแลและใช้งานคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้องทำได้ดังนี้ ถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนเข้านอน ล้างมือและเช็ดมือให้แห้งก่อนสัมผัสคอนแท็กต์เลนส์ ดูแลเก็บรักษาตามคู่มือ ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่เหมาะสำหรับประเภทของคอนแท็กต์เลนส์ เปลี่ยนคอนแท็กต์เลนส์ใหม่เมื่อหมดอายุ เปลี่ยนตลับเก็บทุก 3-6 เดือน ทิ้งน้ำยาแช่คอนแท็กต์เลนส์ในตลับทุกครั้งหลังทำความสะอาดเลนส์ หลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์ในตอนว่ายน้ำ การป้องกันเชื้อไวรัสจากกระจกตาอักเสบไม่ให้แพร่กระจาย อีกวิธีในการป้องกันกระจกตาอักเสบ คือการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แม้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสในกระจกตาได้ทั้งหมด แต่การทำตามข้อแนะนำนี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา เปลือกตา หรือผิวหนังรอบดวงตาขณะเป็นโรคเริม ยกเว้นจะล้างมือทำความสะอาดอย่างหมดจด ใช้ยาหยอดตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์เท่านั้น ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส   สรุป กระจกตาอักเสบคือภาวะที่กระจกตาเกิดการอักเสบ ทำให้ตาแดง บวม ปวดตา มองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคือง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ได้แก่ การใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก การบาดเจ็บที่ดวงตา และการติดเชื้อ วิธีรักษากระจกตาอักเสบทำได้ด้วยยาหยอดตาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา ส่วนการป้องกันควรดูแลคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก หากสงสัยว่าเป็นกระจกตาอักเสบ สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่พร้อมดูแลด้วยความชำนาญและเทคโนโลยีทันสมัย
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111