ม่านตาอักเสบเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองเห็นไม่ชัด จนอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการม่านตาอักเสบมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรง บทความนี้จะมาแนะนำการสังเกตม่านตาอักเสบได้อย่างไร พร้อมหาสาเหตุ แนวทางการรักษา และวิธีการป้องกันโรคม่านตาอักเสบ
|
ม่านตา (Iris) คือ ส่วนที่อยู่โดยรอบรูม่านตา (Pupil) มีลักษณะเป็นวงแหวน มีสีที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรม ม่านตามีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในดวงตา
ม่านตาอักเสบเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน หรือผนังชั้นกลางของลูกตา ทำให้เนื้อเยื่อในลูกตาทำงานลดลง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบได้เข้าไปทำลายในบริเวณดังกล่าว และบริเวณดวงตาไม่ได้มีพื้นที่มาก เมื่อเกิดการระคายเคืองอักเสบ จึงทำให้รูปตาเปลี่ยน ส่งผลให้การมองเห็นลดลง ในกรณีที่เป็นมากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
ม่านตาอักเสบเกิดได้ 4 บริเวณ ดังนี้
ม่านตาอักเสบส่วนหน้า(Anterior Uveitis) เป็นการอักเสบที่ด้านหน้าของลูกตา (ระหว่างกระจกตาและม่านตา) และเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (Ciliary) ซึ่งเป็นประเภทม่านตาอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด ทำให้มีอาการตาแดง และเจ็บปวดบริเวณดวงตาได้
ม่านตาอักเสบส่วนหลัง(Posterior Uveitis) คือการอักเสบของม่านตามบริเวณชั้นจอตาหรือคอรอยด์ เป็นชนิดที่ทำให้การมองเห็นลดลงได้อย่างมากหรืออาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวร
ม่านตาอักเสบส่วนกลาง(Intermediate Uveitis) เป็นการอักเสบบริเวณวุ้นตา และอาจมีเส้นเลือดจอตาอักเสบร่วมได้ มักไม่มีอาการปวด หรือแดง แต่จะมีอาการตามัว หรือมองเห็นจุดดำลอยไปมา บางรายทำให้เกิดม่านตาอักเสบส่วนหน้าด้วย
ม่านตาอักเสบตลอดทั้งส่วนของลูกตา(Panuveitis) คือการอักเสบตั้งแต่ส่วนหน้าถึงส่วนหลังของลูกตา
อาการม่านตาอักเสบแบ่งได้ด้วยกัน 2 ประเภท ตามความรุนแรงและอาการของโรค ดังนี้
ผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตาแดง แพ้แสง ตามัวและการมองเห็นผิดปกติ มองเห็นเห็นเป็นจุดหรือก้อนเมฆเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลันยังพบในผู้ป่วยโรค SLE ที่มีภาวะจอประสาทตาอักเสบจึงทำให้ตาขาดเลือด
ผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน เพราะอาการม่านตาอักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแทรกซ้อนจากม่านตาอักเสบเกิดขึ้นแล้ว เช่นตามัวลงจากต้อหินต้อกระจกเป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรังอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้ ม่านตาอักเสบเรื้อรังผู้ป่วยอาจจะมีอาการตาอักเสบเป็นๆ หายๆ
ม่านตาอักเสบสามารถดูแลรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ดังนั้นการสังเกตอาการม่านตาอักเสบจึงมีความสำคัญ ช่วยให้สามารถสังเกตอาการของโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคม่านตาอักเสบเรื้อรัง ที่มาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยมีข้อสังเกตอาการม่านตาอักเสบ ดังนี้
ตาแดงเรื่อบริเวณตาขาวใกล้กับตาดำ
เยื่อบุตาบวม
ปวดตา
ตาไวต่อแสง มีอาการปวดตามากขึ้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้า
เคืองตา น้ำตาไหล
ตามัว มองไม่ชัด
รูม่านตาเปลี่ยนรูปจากวงกลม เป็นรูปทรงที่ไม่ปกติ
พบหนอง (Hypopyon) บริเวณลูกตาหน้า หรือรอบๆ ม่านตา
มองเห็นจุด หรือเงาดำลอยไปมา
สูญเสียลานสายตา (Visual Field Defects)
การมองเห็นลดลง
ม่านตาอักเสบมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราบริเวณลูกตาส่งผลให้เกิดม่านตาอักเสบได้ เช่น การมีแผลที่กระจกตากระจกตาอักเสบและเยื่อตาขาวอักเสบ
การป่วยเป็นโรคต่างๆ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคม่านตาอักเสบ เช่น ไซนัสอักเสบ วัณโรค โรคเรื้อน ซิฟิลิส เอดส์ สมองอักเสบ โรคปลอกประสาทเสื้อผมแข็ง ปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น
อาการบาดเจ็บทางตา เช่น การกระทบกระเทือน การถูกระแทกบริเวณกระบอกตา พบได้ 1 ใน 5 ของเคสที่มีอาการม่านตาอักเสบ หรือเรียกว่าโรคม่านตาอักเสบหลังได้รับบาดเจ็บ (Traumatic Iritis) ซึ่งจะมีอาการตามัว ปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้
การได้รับยาบางชนิดอาจส่งผลกับการเกิดโรคม่านตาอักเสบได้ เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบินสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ยาปฏิชีวนะริฟาบูติน เป็นต้น เมื่อหยุดกินอาการม่าสตาอักเสบก็จะหายไป
เมื่อป่วยด้วยโรคม่านตาอักเสบที่มีความรุนแรงมากขึ้นและเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนี้
โรคต้อหิน (Glaucoma)
โรคต้อกระจก (Cataracts)
จอประสาทตาถลอก
จอประสาทตาเป็นแผล
จอประสาทตาบวม
ภาวะม่านตายึดติดกับเลนต์ตาด้านหลัง (Eye Synechiae) ส่งผลให้รูม่านตามีลักษณะรูปร่างที่ผิดปกติ
เส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย
สูญเสียการมองเห็นถาวร
การวินิจฉัยม่านตาอักเสบ แพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด พร้อมซักประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ และอาจมีการส่ง Lab เพื่อตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือภาวะภูมิแพ้ตัวเองหรือเปล่า ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจตา ดังนี้
การวัดความดันลูกตา(IntraOcular Pressure)
การตรวจตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Slit-lamp microscope) วิธีนี้เป็นวิธีตรวจม่านตาอักเสบขั้นต้น
การวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity test) เป็นการวัดเพื่อประเมินว่าคนไข้มีความสามารถในการมองเห็นผ่านการอ่านชาร์ตตัวอักษร
การตรวจวินิจฉัยจอประสาทตาด้วยคลื่นแสง (Optical coherence tomography)
การถ่ายภาพจอประสาทตา (Color fundus retinal photography)
การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุการติดเชื้อ
การตรวจ X-Ray คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
วิธีรักษาม่านตาอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของม่านตาอักเสบ ม่านตาสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ การรักษาในระยะเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อลดการอักเสบให้ได้มากที่สุด ควบคุมป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับดวงตาและอาการข้างเคียงอื่นๆ ในบางเคสจะต้องรักษาจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดม่านตาอักเสบ ซึ่งการรักษาประกอบด้วย
การใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บตาจากการอักเสบ
การใช้ยาสเตียรอยด์เช่น ยาหยอดตาสเตียรอยด์ ยาแบบรับประทาน ยาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ หรือการฉีดยาเข้าวุ้นตา
ยาปฏิชีวนะใช้เมื่อมีการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
การใช้ยากดภูมิคุ้มกันใช้ในกรณีที่ม่านตาอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง และร่างกายตอบสนองต่อยาแก้อาการอักเสบได้ไม่ดีนัก หรือเริ่มส่งผลต่อการสูญเสียการมองเห็น
ม่านตาอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคม่านตาอักเสบ เพราะรู้เร็วจะช่วยให้รักษาได้ง่าย และป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อลูกตา โดยการป้องกันและการลดความเสี่ยงม่านตาอักเสบทำได้ดังนี้
ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของดวงตา
หากมีโรคภูมิแพ้ตัวเอง ควรทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ
หากป่วยเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคม่านตาอักเสบ ควรพบจักษุแพทย์เป็นประจำ
เมื่อมีการติดเชื้อควรรีบรักษาเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ
หากมีอาการม่านตาอักเสบ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้
โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย
พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง
ม่านตาอักเสบ(Iritis /Uveitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อหรือผนังชั้นกลางของลูกตา ส่งผลให้ดวงตาอักเสบแดง ปวดตา ตามัว เคืองตา มีน้ำตาไหล หากอาการของโรครุนแรงมาก อาจส่งผลต่อการมองเห็นจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ สาเหตุโรคม่านตาอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของดวงตา การติดเชื้อ หรือโรคอื่นๆ การป้องกันและลดความเสี่ยงสามารถทำได้โดยการตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยบางโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดม่านตาอักเสบ ควรทานยาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospitalให้บริการดูแลรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาทั้งหมด มีแพทย์ที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละเคส เพื่อผลลัพธ์หลังการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ