ย้อนกลับ
กระจกตาคืออะไร? มีหน้าที่สำคัญกับดวงตาอย่างไร และวิธีดูแลกระจกตา
  • กระจกตาคือส่วนโปร่งใสที่โค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา

  • กระจกตามีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน

  • โรคและอาการที่เกี่ยวกับกระจกตา ได้แก่ กระจกตาอักเสบ กระจกตาโค้งผิดรูป และแผลกระจกตา วิธีดูแลกระจกตาทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาด้วยมือเปล่า รักษาความสะอาด และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ

  • การรักษากระจกตาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ที่ชำนาญการ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษาปัญหากระจกตาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

กระจกตาทำหน้าที่เป็นหน้าต่างของดวงตาที่ช่วยให้แสงเข้าสู่ดวงตาและโฟกัสแสงไปยังจอประสาทตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน นอกจากนี้กระจกตายังมีบทบาทในการป้องกันดวงตาจากฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ด้วย การดูแลกระจกตาให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอย่างมาก ไปรู้จักกับหน้าที่และความสำคัญของกระจกตา โรคที่เกี่ยวข้อง และวิธีการดูแลกระจกตาให้สุขภาพดี เพื่อการมองเห็นที่คมชัดในทุกวัน

 

กระจกตาคืออะไร สำคัญอย่างไรกับดวงตาบ้าง

 

กระจกตาคืออะไร สำคัญอย่างไรกับดวงตาบ้าง

กระจกตา (Cornea) คือชั้นโปร่งใสทรงโดมที่อยู่ด้านหน้าของดวงตาทั้งสองข้าง กระจกตาทำหน้าที่อะไร? ทำหน้าที่คล้ายกับ "กระจกบังลม" ของดวงตา ช่วยป้องกันเศษฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่ดวงตา

รูปทรงเฉพาะของกระจกตายังมีบทบาทสำคัญในการหักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตา เพื่อให้การมองเห็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) บางส่วนเพื่อปกป้องดวงตาอีกด้วย โดยปกติกระจกตาของคนทั่วไปจะมีความหนาประมาณ 520 ไมครอน

 

กระจกตา มีกี่ชั้น

 

กระจกตามีกี่ชั้น แต่ละชั้นทำหน้าที่อะไร

กระจกตามีกี่ชั้น? โครงสร้างของกระจกตาประกอบด้วย 6 ชั้นที่ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อนเพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพและช่วยปกป้องดวงตาจากอันตรายต่างๆ โดยแต่ละชั้นมีหน้าที่ที่ต่างกันคือ

1. กระจกตาชั้นนอก (Epithelium)

ชั้นนอกสุดของกระจกตา ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันระหว่างส่วนภายในของดวงตากับสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ยังไวต่อความเจ็บปวดอย่างมาก นักวิจัยประมาณว่ากระจกตาชั้นนอกมีตัวรับความเจ็บปวดมากกว่าผิวหนังถึง 300 ถึง 600 เท่า ความไวนี้ช่วยปกป้องดวงตา โดยกระตุ้นให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อหยุดหรือกำจัดสิ่งที่ทำให้ดวงตาเจ็บปวดได้ทันท่วงที

2. ชั้นเยื่อรับรองผิว (Bowman’s layer) 

กระจกตาชั้นเยื่อรับรองผิวเป็นชั้นที่แข็งแรงซึ่งประกอบด้วยคอลลาเจนเป็นส่วนใหญ่ มีหน้าที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและรักษารูปทรงของกระจกตาให้คงที่

3. กระจกตาชั้นกลาง (Stroma) 

Stoma หรือกระจกตาชั้นกลางเป็นชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตา ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างกระจกตา และช่วยหักเหแสงให้โฟกัสไปยังจอประสาทตา

4. ชั้นของดูอา (Pre-Descemet’s layer)

งานวิจัยระบุว่าชั้นนี้มีความแน่นหนาราวกับสุญญากาศ ทำให้เป็นเกราะป้องกันที่แข็งแรงมากในการแยกของเหลวภายในดวงตาออกจากอากาศภายนอก

5. ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane)

ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านในมีความบางและยืดหยุ่นได้ดี แต่ก็ยังแข็งแรงมากอีกด้วย มีความสำคัญต่อโครงสร้างของดวงตาและช่วยปกป้องส่วนภายในดวงตาจากการบาดเจ็บและการติดเชื้อ

6. ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial)

กระจกตาชั้นเซลล์ผิวด้านในมีหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลของของเหลวในกระจกตาและภายในดวงตา ช่วยให้มั่นใจว่าจะมีน้ำและของเหลวในชั้นสโตรมาของกระจกตาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้กระจกตาทำงานได้อย่างถูกต้อง

 

โรคหรืออาการที่มักพบได้ที่กระจกตา

 

โรคหรืออาการที่มักพบได้ที่กระจกตา

โรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาที่พบบ่อยและต้องระวังในการดูแลรักษา มีดังนี้

ตาแห้ง

ชั้นผิวหนังของกระจกตาต้องการน้ำตาเพื่อรักษาความชุ่มชื้น เพราะน้ำตาช่วยหล่อลื่นผิวดวงตาและช่วยให้ดูดซึมออกซิเจนจากอากาศได้ เมื่อกระจกตาขาดความชุ่มชื้น จะเกิดอาการระคายเคืองและเจ็บปวดบริเวณดวงตา โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตานานหรือต้องเพ่งตามอง ซึ่งอาจรบกวนการมองเห็นและทำให้เกิดอาการตาแห้ง

การติดเชื้อ

เมื่อผิวกระจกตาถูกทำลาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต ตัวอย่างหนึ่งของการติดเชื้อคืออาการกระจกตาอักเสบจากปรสิต (Acanthamoeba Keratitis) โดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตา ระคายเคือง ตาแดง แสบตา ตาพร่ามัว รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ไปจนถึงน้ำตาไหลผิดปกติ

กระจกตาอักเสบ

การอักเสบของกระจกตา เป็นภาวะหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับกระจกตา มักมีอาการมองเห็นไม่ชัด ตาแดง และปวดตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กระจกตาอักเสบ ได้แก่ การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เข้าไปทำลายกระจกตา

การบาดเจ็บ

กระจกตาเสียหายจากสิ่งที่มากระทบได้ เช่น รอยขีดข่วนจากสิ่งสกปรก การขยี้ตา หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ทำให้ผิวกระจกตาเสียหาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดการฉีกขาดจากของมีคม โดนของหนักกระทบตา หรือการใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปที่อาจทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมถึงการสึกกร่อนของผิวกระจกตาจนทำให้บางส่วนของกระจกตาเสียหาย ที่มักเกิดจากอาการตาแห้ง ระคายเคืองจากสารเคมี หรือเจอแสงแดดบ่อยๆ

ความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม

กระจกตามีความไวต่อความร้อนและความเย็นจัด เช่น การได้รับความร้อนสูงจนทำให้กระจกตาเป็นแผล หรือจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งมักพบได้บ่อยกับคนที่อยู่ในแสงแดดเป็นเวลานาน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป 

นอกจากนี้กระจกตายังมีความไวต่อสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกรดหรือสารเคมีในรูปแบบก๊าซที่อาจระเหยและสัมผัสกระจกตา ซึ่งสามารถทำให้กระจกตาเกิดการระคายเคือง การบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อได้

กระจกตาเสื่อม

"โรคกระจกตาเสื่อม" มีมากกว่า 20 โรค โดยโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรคกระจกตาโค้งผิดรูปและโรคฟุคส์ (Fuchs’ dystrophy) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระจกตา รวมถึงการทำงานร่วมกันของชั้นผิวกระจกตาแต่ละชั้น 

 

วิธีดูแลกระจกตา

 

วิธีดูแลกระจกตา ช่วยรักษาสุขภาพดวงตา

การป้องกันและดูแลกระจกตาด้วยตนเองเพื่อป้องกันโรคหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับกระจกตา ทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อหาสัญญาณเตือนของปัญหาที่เกี่ยวกับกระจกตาและดวงตาโดยรวม ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ

  • ล้างมืออย่างสม่ำเสมอก่อนสัมผัสดวงตา ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับเชื้อโรคที่อาจทำร้ายกระจกตาได้

  • ไม่ใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งของที่ต้องสัมผัสกับดวงตาร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อที่ตาได้

  • เก็บรักษาและดูแลคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกวิธี

  • หลีกเลี่ยงการขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงการถูตาผ่านเปลือกตา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจหรือทำให้ผิวกระจกตาอ่อนแอลง

สรุป

กระจกตาคือส่วนโปร่งใสมีรูปร่างโค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา มีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน

โรคหรืออาการที่กระจกตา เช่น ตาแห้ง กระจกตาอักเสบ กระจกตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดูแลกระจกตาให้มีสุขภาพดวงตาที่ดี เช่น หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา และรักษาความสะอาด

หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา เข้ารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์พร้อมดูแลดวงตาของคุณ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากระจกตาและรักษาสุขภาพดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ

calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111