มุมสุขภาพตา : #โรคตาบอดสี

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ศูนย์เลสิก LASER VISION

ตาบอดสีคืออะไร? รู้จักอาการ สาเหตุ และวิธีทดสอบตาบอดสี

ตาบอดสีเป็นภาวะที่ไม่สามารถแยกสีบางสีได้ และสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรม อายุ โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม หรือต้อกระจก แบ่งประเภทของตาบอดสีได้เป็นตาบอดสีแดง-สีเขียว ตาบอดสีน้ำเงิน-สีเหลือง และตาบอดสีทั้งหมด การทดสอบตรวจตาบอดสีสามารถทำได้ด้วย Ishihara Test ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ด้วยการดูแผ่นกระดาษหลายหน้าที่มีจุดสีที่คนตาบอดสีมักสับสน หากอ่านได้ทั้งหมดหมายความว่ามีสายตาที่ปกติ อาการตาบอดสีส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น การขับขี่รถยนต์ การประกอบอาชีพบางสายงานอาจมีปัญหาได้ และเกิดปัญหาในการเรียนรู้ได้   ตาบอดสีเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแยกสีบางสีได้ ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือปัญหาทางสายตา ทำให้การมองเห็นอาจไม่ได้เต็มไปด้วยสีสันอย่างที่ควรจะเป็น โดยบทความนี้จะพาทำความรู้จักกับตาบอดสี ตั้งแต่สาเหตุ อาการ และวิธีทดสอบ ไปดูกันเลย!     ตาบอดสีเกิดจากอะไร? ตาบอดสีส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรม โดยถ่ายทอดทางโครโมโซม X จึงพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง จากสถิติพบว่าประมาณ 8% ของประชากรชายอาจมีภาวะตาบอดสี ในขณะที่เพศหญิงพบได้น้อยกว่า นอกจากนี้ โรคตาบอดสียังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น โรคทางตา การบาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ในกรณีนี้จะเป็นอาการตาบอดสีที่ไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์ และในกรณีนี้อาจรักษาได้บางส่วน ซึ่งตาบอดสีเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้   กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด มักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการที่พบบ่อยคือการมีตาบอดสีเขียวและสีแดง พบในเพศชายประมาณ 7% และเพศหญิง 0.5 - 1% อายุ เพราะการเสื่อมของเซลล์รับสีตามวัยที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการมองเห็นสี โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และต้อกระจก โรคอื่นๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน หรือโรคพาร์กินสัน สาเหตุอื่นๆ ทั้งจากการบาดเจ็บที่ดวงตา การได้รับสารเคมีเป็นระยะเวลานาน หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด   โดยดวงตาสามารถมองเห็นวัตถุและสีต่างๆ ได้ด้วยความร่วมมือของเซลล์รับแสงในจอประสาทตา ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิดหลัก คือ เซลล์รูปแท่ง (Rod Cells) และเซลล์รูปกรวย (Cone Cells) ซึ่งมีหน้าที่ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้ เซลล์รูปแท่ง (Rod Cells) เซลล์ชนิดนี้ทำหน้าที่ในการมองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวหรือในที่มืด ภาพที่มองเห็นจะเป็นเพียงเฉดขาว ดำ หรือเทา ตามความสว่างของแสงรอบตัว เซลล์รูปแท่งจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการมองเห็นตอนกลางคืน หรือในสถานการณ์ที่มีแสงน้อย เซลล์รูปกรวย (Cone Cells) เซลล์ชนิดนี้เป็นตัวที่ทำให้เราสามารถมองเห็นสีต่างๆ ได้ โดยจะทำงานเมื่อมีแสงสว่างมากพอ เซลล์รูปกรวยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามช่วงคลื่นของแสงที่ตอบสนอง ได้แก่ เซลล์รับแสงสีแดง เซลล์รับแสงสีเขียว และเซลล์รับแสงสีน้ำเงิน เมื่อแสงตกกระทบเข้าสู่ดวงตาจะกระตุ้นเซลล์เหล่านี้ให้ส่งสัญญาณไปยังสมอง ซึ่งสมองเหล่านี้ก็จะประมวลผลและผสมผสานสัญญาณต่างๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นเป็นสีสันได้หลากหลาย   กรณีที่มองเห็นสีปกติ เซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิดที่รับแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน จะทำงานร่วมกันอย่างสมดุล เมื่อแสงตกกระทบเข้าตาเซลล์เหล่านี้จะถูกกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อประมวลผลออกมาเป็นสีต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ในภาวะนี้เรียกว่า Trichromatism กรณีที่เซลล์รับสีมีความผิดปกติ ไม่สามารถรับสีได้ครบทั้ง 3 ชนิด หรือมีชุดใดชุดหนึ่งทำงานผิดปกติ ส่งผลให้การรับรู้คลาดเคลื่อนจากคนทั่วไป ภาวะนี้เรียกว่า Dichromatism ผู้ที่มีภาวะนี้มักไม่รู้ตัว เพราะสมองจะปรับการรับรู้สีตามแบบที่ตัวเองเห็นจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ กรณีที่รุนแรงมาก จะมีเซลล์รับสีเพียงชนิดเดียว หรือไม่มีเลย ส่งผลให้ไม่สามารถมองเห็นสีใดได้เลย มองเห็นเพียงเฉดขาว ดำ และเทาเท่านั้น ภาวะนี้จะเรียกว่า Monochromatism เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่ส่งผลต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวัน     ระดับความรุนแรงของอาการตาบอดสี อาการตาบอดสีสามารถแบ่งตามระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับตามความรุนแรง ดังนี้   ความรุนแรงระดับต่ำ สามารถแยกแยะสีส่วนใหญ่ได้ อาจเห็นสีเพี้ยนไปเล็กน้อย แต่ยังสามารถบอกหรือคาดเดาสีได้ถูกต้อง ความรุนแรงระดับกลาง แยกแยะสีที่คล้ายกันได้ยาก ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ความรุนแรงระดับสูง กรณีที่รุนแรงที่สุดจะมองเห็นโลกเป็นสีขาว เทา และดำ (Achromatopsia) ซึ่งพบได้น้อยมากและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต     ประเภทของตาบอดสีมีอะไรบ้าง? หลายคนอาจสงสัยว่าผู้มีอาการตาบอดสีมองเห็นสีอะไรบ้าง โดยตาบอดสีมีหลายประเภท แบ่งตามลักษณะของการเห็นสี ดังนี้ ตาบอดสีแดง-เขียว (Red-green Color Blindness) ตาบอดสีแดง-เขียว (Red-green Color Blindness) เป็นประเภทที่พบมากที่สุด โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาในการแยกแยะระหว่างสีแดงและสีเขียว ซึ่งลักษณะการมองเห็นของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของเซลล์รูปกรวยในดวงตา   Protanomaly ผู้ที่มีเซลล์รูปกรวยสีแดงน้อย จะมองเห็นโทนสีแดง สีส้ม และสีเหลืองเป็นโทนสีเขียว Protanopia ผู้ที่ไม่มีเซลล์รูปกรวยสีแดง จะมองเห็นโทนสีแดงเป็นสีดำ Deuteranomaly ผู้ที่มีเซลล์รูปกรวยสีเขียวน้อย จะมองเห็นโทนสีเขียวเป็นโทนสีแดง Deuteranopia ผู้ที่ไม่มีเซลล์รูปกรวยสีเขียว จะมองเห็นโทนสีเขียวเป็นสีดำ   ตาบอดสีน้ำเงิน-เหลือง (Blue-yellow Color Blindness) ตาบอดสีน้ำเงิน-เหลือง (Blue-yellow Color Blindness) เป็นอาการตาบอดสีประเภทที่มักเกี่ยวข้องกับโรคทางสายตาอื่นๆ มากกว่าเกิดจากพันธุกรรม โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาในการแยกสีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว และสีแดง   Tritanomaly ผู้ที่มีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินน้อย จะมีปัญหาในการแยกสีน้ำเงินกับสีเขียว รวมถึงสีแดงกับสีม่วง Tritanopia ผู้ที่ไม่มีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน จะไม่สามารถแยกแยะโทนสีน้ำเงินและสีเหลืองได้ เช่น สีน้ำเงินกับสีเขียว สีม่วงกับสีแดง และสีเหลืองกับสีชมพู   ตาบอดสีทั้งหมด (Complete Color Blindness) ตาบอดสีทั้งหมด (Complete Color Blindness) หรือเรียกว่า Monochromacy เป็นภาวะที่เซลล์รูปกรวยทั้งหมดในดวงตาไม่ทำงานหรือขาดหายไป ทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้พบได้น้อยมากกว่าภาวะอื่นๆ โดยจะมองเห็นทุกสิ่งเป็นโทนสีเทา และอาจสลับสีกัน เช่น ระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน สีแดงกับสีดำ หรือสีเหลืองกับสีขาว และในบางรายอาจไวต่อแสงมากกว่าปกติอีกด้วย     วิธีทดสอบอาการตาบอดสี หากกำลังสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคตาบอดสี ลองสังเกตอาการต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ของภาวะตาบอดสี สังเกตอาการด้วยตัวเอง การสังเกตพฤติกรรมหรือตรวจอาการตาบอดสีเบื้องต้นด้วยตัวเองเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้   มีความยากลำบากในการแยกแยะสีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถจดจำหรือบอกสีได้อย่างถูกต้อง ยังมองเห็นสีได้หลากหลาย แต่สีที่เห็นมีความแตกต่างจากคนทั่วไป การมองเห็นถูกจำกัดเพียงบางโทนสีเท่านั้น ในกรณีที่รุนแรง ภาพที่มองเห็นอาจมีเพียงสีขาว สีดำ และสีเทาเท่านั้น   ทดสอบตาบอดสีด้วย Ishihara Test การทดสอบตาบอดสีด้วย Ishihara Test เป็นวิธีทดสอบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยใช้ในการทดสอบคัดกรองว่ามีภาวะตาบอดสีหรือไม่ ผู้เข้ารับการตรวจจะดูแผ่นภาพหรือแผ่นกระดาษหลายหน้า ซึ่งแผ่นทดสอบจะมีจุดสีที่คนตาบอดสีมักสับสน หากสามารถอ่านและลากเส้นได้ถูกต้องทั้งหมดจะถือว่าการมองเห็นสีเป็นปกติ แต่สำหรับคนตาบอดสีแดงมักจะสับสนระหว่างสีแดงกับสีน้ำเงินอมเขียว หากมีตัวเลขสีแดงบนพื้นสีน้ำเงินอมเขียว ก็อาจมองไม่เห็นตัวเลขบนแผ่นทดสอบที่ซ่อนอยู่     ปัญหาคนตาบอดสีกับการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากตาบอดสีจะเป็นปัญหาในการแยกแยะสีแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลายด้านด้วยกัน ดังนี้ เกิดปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ผู้ที่มีภาวะตาบอดสี โดยเฉพาะในวัยเด็กยังคงมีความสามารถในการเรียนรู้เหมือนเด็กทั่วไป แต่การรับรู้เรื่องสีมีความผิดเพี้ยน ทำให้คำตอบหรือการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสีจะได้ผลลัพธ์แตกต่างจากคนอื่น หากในการเรียนวิชาอื่นๆ กิจกรรมที่ไม่ได้ใช้สีสันมากนัก ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่แตกต่างกับคนทั่วไป แต่ผู้ที่มีอาการตาบอดสีมักได้รับผลกระทบในวิชาศิลปะ การประเมินพัฒนาการทางภาษา และการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสี การขับขี่รถยนต์ ตาบอดสีส่งผลกระทบชัดเจนต่อการขับขี่รถยนต์ เนื่องจากต้องสังเกตความแตกต่างของไฟจราจร โดยอาจสังเกตจากความเข้มข้นของสีที่ไม่เท่ากัน หากสามารถแยกแยะได้ก็ขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย การทดสอบใบขับขี่จึงต้องมีการประเมินความสามารถในการบอกสัญญาณไฟจราจรและเกณฑ์อื่นๆ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน การประกอบอาชีพ ผู้ที่มีอาการตาบอดสีอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงบางอาชีพ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น ตัวอย่างอาชีพที่ไม่เหมาะกับตาบอดสี เช่น นักบิน ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี จิตรกร นักออกแบบกราฟิก เป็นต้น คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี สำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้วยังมีคำแนะเพิ่มเติม ดังนี้   เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกันการเกิดภาวะตาบอดสีในเครือญาติ หากไม่ได้เป็นตาบอดสีแต่กำเนิด แต่กลับมีอาการเกิดขึ้นภายหลัง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีสามารถสอบใบขับขี่ได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถแยกแยะความแตกต่างของสัญญาณไฟจราจรได้อย่างถูกต้อง ตรวจตาบอดสีที่ศูนย์รักษาตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร แนะนำมาตรวจอาการตาบอดสีได้ที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยบุคลากรทางการแพทย์มากความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับดวงตา และจุดเด่นดังนี้   โรงพยาบาลมีจักษุแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป ตาบอดสีเป็นภาวะที่ทำให้ไม่สามารถแยกแยะสีบางสีได้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์และพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาการตาบอดสีสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น ตาบอดสีแดง-สีเขียว ตาบอดสีน้ำเงิน-สีเหลือง และตาบอดสีทั้งหมด และภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถและการประกอบอาชีพบางอย่าง ซึ่งการทดสอบตาบอดสีสามารถทำได้ด้วย Ishihara Test    หากสงสัยหรือต้องการรับคำแนะนำ การตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ มาที่ Bangkok Eye Hospital ซึ่งมีบริการรักษาอาการและโรคเกี่ยวกับดวงตาทุกประเภท รวมถึงบริการตรวจอาการตาบอดสีอีกด้วย FAQ – คำถามที่พบบ่อย   ตาบอดสีรักษาได้ไหม? ตาบอดสีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากตาบอดสีเกิดจากเซลล์รูปกรวยมีจำนวนไม่เพียงพอหรือขาดหายไป และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ทดแทนเซลล์เหล่านี้ได้ 2. ตาบอดสีสามารถสอบใบขับขี่ได้หรือไม่? ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีระดับไม่รุนแรงยังคงสามารถสอบใบขับขี่ได้ โดยจะต้องสามารถสังเกตความเข้ม-อ่อนของสัญญาณไฟจราจรและตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ หากมีปัญหาค่าสายตาร่วมด้วย ก็ยังสามารถวัดสายตา ทำเลสิกเพื่อรักษาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงได้เช่นเดียวกัน 3. ผู้หญิงมีภาวะตาบอดสีได้หรือไม่? ผู้หญิงสามารถมีภาวะตาบอดสีได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากภาวะตาบอดสีแบบพันธุกรรมถูกถ่ายทอดทางโครโมโซม X ซึ่งผู้หญิงมีโครโมโซม X สองตัว หากตัวหนึ่งเป็นโรคตาบอดสี อีกตัวที่ปกติก็จะช่วยควบคุมอาการไม่ให้แสดงออกมา ผู้ชายที่มีโครโมโซม X เพียงตัวเดียวจึงมีโอกาสเป็นตาบอดสีมากกว่าผู้หญิง
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111