ศูนย์รักษาจอประสาทตา
ศูนย์รักษาจักษุประสาทวิทยา
หนังตากระตุกคืออาการที่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาขยับหรือกระตุกโดยไม่ตั้งใจ โดยมักเกิดที่เปลือกตาบนและเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเกิดบ่อยๆ เป็นอาการที่ไม่รุนแรง
หนังตากระตุกมักเกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวล นอนหลับไม่เพียงพอ ใช้สายตามากเกินไป ขาดแมกนีเซียม โรคพาร์กินสัน หรือการติดเชื้อที่เปลือกตา
อาการเปลือกตากระตุกที่ควรพบจักษุแพทย์ ได้แก่ กระตุกตาต่อเนื่องเกิน 2-3 สัปดาห์ มีอาการปวด หรือทำให้ลืมตาลำบาก ตาแดงหรือมีขี้ตา กระตุกเกิดร่วมกับการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้า
หากมีอาการหนังตากระตุกต่อเนื่องหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพบจักษุแพทย์ที่ Bangkok Eye Hospital เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
การที่หนังตากระตุกเป็นอาการที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรใส่ใจ มาดูกันว่าอาการนี้เกิดจากอะไร และเราจะดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการนี้ได้อย่างไร
อาการหนังตากระตุกคืออะไร?
ตากระตุก (Eye Twitching) คืออาการที่หนังตาขยับหรือหนังใต้ตากระตุกอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นแค่เพียงเล็กน้อยหรือถี่จนทำให้เกิดความรำคาญได้ อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เปลือกตาบนและล่าง แต่พบมากที่เปลือกตาบน โดยทั่วไปแล้วอาการตากระตุกมักไม่รุนแรงและไม่มีความเจ็บปวด
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหนังตากระตุก
อาการหนังตากระตุกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันหรือสภาวะร่างกาย ดังนี้
ความเครียดและความวิตกกังวลสะสมเป็นเวลานาน
นอนหลับไม่เป็นเวลาหรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
ใช้สายตามากเกินไป เช่น การมองจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานๆ โดยไม่พักสายตา
ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มากในปริมาณมาก
แสงสว่างที่จ้าเกินไป ลม หรือมลพิษทางอากาศ
การขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด เช่น แมกนีเซียม วิตามินบี 12 หรือวิตามินดี
การระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน หรือโรคภูมิแพ้
โรคตาที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ตาแห้ง ที่อาจทำให้เปลือกตากระตุกหรือเกร็งจากการพยายามรักษาความชุ่มชื้นให้กับตา
โรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน หรือผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษา
อาการหนังตากระตุกบ่อยๆ บ่งบอกถึงอะไร?
แม้ว่าอาการหนังตากระตุกจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองในหลายกรณี แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ควรสังเกตให้ดี เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ เช่น
โรคทูเร็ตต์ (Tourette's Disorder)
โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy)
โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง (Facial Dystonia)
โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia)
โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง (Oromandibular Dystonia)
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
วิธีการรักษาเปลือกตากระตุกและการบรรเทาอาการ
การรักษาและบรรเทาอาการเปลือกตากระตุกสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนี้
รับประทานยา
การใช้กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อหรือกลุ่มยานอนหลับ อาจช่วยบรรเทาอาการหนังตากระตุกชั่วคราว เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) และยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงควรใช้ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
รักษาตามปัจจัยที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก
การจัดการกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา เช่น
การใช้น้ำตาเทียมอาการกล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกอาจเกิดจากตาแห้ง การใช้น้ำตาเทียมช่วยให้ความชุ่มชื้น ลดการระคายเคือง และป้องกันการกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา
การรักษาเปลือกตาอักเสบหากการกระตุกเกิดจากการอักเสบ เช่น โรคภูมิแพ้หรือการติดเชื้อ การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้การกระตุกหายไป
การใช้แว่นตาดำ (FL-41)ช่วยกรองแสงจ้า เช่น แสงจากจอคอมพิวเตอร์หรือแสงแดด ลดการกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา โดยช่วยให้ตารู้สึกสบายและลดอาการกระตุก
ฉีดโบท็อกซ์
การฉีดโบท็อกซ์ได้รับการรับรองในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดในการรักษาอาการเปลือกตากระตุก แพทย์จะฉีดโบท็อกซ์ลงไปบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอ่อนแรงชั่วคราว และไม่สามารถหดเกร็งได้
โบท็อกซ์จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบล็อกสัญญาณจากเส้นประสาทที่กระตุ้นการกระตุก เมื่อฉีดโบท็อกซ์แล้วอาการตากระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ผลของโบท็อกซ์จะอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่อยาหมดฤทธิ์ อาการอาจกลับมา จึงแนะนำให้กลับไปพบแพทย์หากอาการยังคงมีอยู่
การผ่าตัด
การผ่าตัดสำหรับอาการตากระตุกจะพิจารณาในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยโบท็อกซ์หรือวิธีอื่นๆ โดยการผ่าตัดอาจจะทำการตัดเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเปลือกตา เพื่อหยุดการกระตุกที่ไม่สามารถควบคุมได้
หนังตากระตุกหายได้เองไหม? และเมื่อไรที่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไปแล้วอาการกล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกมักหายได้เองหากหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
หนังตากระตุกที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนรบกวนหรือมีผลต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน
อาการเปลือกตากระตุกที่ไม่หายไปภายใน 2-3 สัปดาห์
เปลือกตากระตุกที่ทำให้ลืมตายากหรือเปลือกตาปิดสนิท
อาการตาเกร็งหรือกะพริบตาค้างจนไม่สามารถลืมตาขึ้นได้เอง
ตาแดง หรือมีขี้ตา รวมถึงเปลือกตาตก
มีการกระตุกบริเวณอื่นของใบหน้าหรือร่างกายร่วมด้วย
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเปลือกตากระตุก
การป้องกันอาการเปลือกตากระตุกสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อเปลือกตา ดังนี้
ลดเวลาในการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หาสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือการฝึกหายใจเพื่อลดความเครียด
นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตาเพื่อช่วยคลายความตึงเครียด
ประคบร้อนหรืออุ่นบริเวณดวงตาประมาณ 10 นาที
หากเกิดอาการตาแห้งหรือระคายเคือง สามารถหยอดน้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ
สรุป
หนังตากระตุกคืออาการที่กล้ามเนื้อเปลือกตาขยับโดยไม่ตั้งใจ มักเกิดที่เปลือกตาบน สาเหตุรวมถึงความเครียด การนอนน้อย การใช้สายตานาน ขาดสารอาหาร หรือแสงจ้า โดยวิธีรักษา ได้แก่ ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ น้ำตาเทียม แว่นตากรองแสง โบท็อกซ์ หรือการผ่าตัดในกรณีที่จำเป็น
หากมีอาการหนังตากระตุกต่อเนื่องหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพบจักษุแพทย์ที่Bangkok Eye Hospitalเพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาที่เหมาะสม